INDUSTRIAL HOME DESIGN

Style & Function

Written by: Nuchnapang

25 September 2019

Views: 178

นับตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 20 ก็ได้เกิดกระแสการนำอาคารและโรงงานอุตสาหกรรมเก่ามาทำเป็นที่พักอาศัยที่เรียกกันว่า ‘ลอฟท์’ หากจะอธิบายความหมายของคำว่าลอฟท์ (Loft) ก็คือ อาคารอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ภายในแบบเปิดโล่ง เพดานสูง พร้อมด้วยหน้าต่างขนาดใหญ่ โดยการออกแบบภายในของอาคารประเภทนี้จะเรียกว่า ‘สไตล์อินดัสเทรียล’ ซึ่งหัวใจสำคัญของการตกแต่งสไตล์นี้ก็คือ การออกแบบสิ่งปลูกสร้างโดยเปิดเผยผิววัสดุและโครงสร้าง รวมทั้งมีการเดินระบบท่อต่างๆ อย่างไม่ปิดบัง ซึ่งในยุคนั้นได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวชนชั้นกลาง ทั้งในตัวเมืองและชานเมืองมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นสไตล์การตกแต่งสุดฮิตที่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็พบเห็นได้อยู่บ่อยๆ 

ต้นกำเนิดของสไตล์อินดัสเทรียล


Photo from Instagram @_thirdcoastinteriors_

การตกแต่งแบบอินดัสเทรียลที่เรารู้จักกันมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 20 โดยจุดเริ่มต้นมาจากสองสถาปนิกชาวอังกฤษนามว่า อลิสัน และ ปีเตอร์ สมิธสัน ที่ได้ออกแบบอาคารโรงเรียน Hunstanton School (ปัจจุบันชื่อ Smithdon High School) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นการตกแต่งสไตล์นี้ก็ได้สานต่อมายังสถาปนิกไฮเทคแห่งยุค 80s และ 90s ไม่ว่าจะเป็น ริชาร์ด โรเจอร์ส หรือ นอร์แมน ฟอสเตอร์ ที่ผลงานการออกแบบอาคารทั้งภายนอกและภายในของพวกเขาล้วนสะท้อนถึงสถาปัตยกรรมอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ห้องนั่งเล่นสไตล์อินดัสเทรียล



หลักการตกแต่งห้องนั่งเล่นสไตล์อินดัสเทรียล ก็คือควรมีพื้นที่กว้างเปิดโล่งเพดานสูง และแม้พื้นที่จะแคบก็ตาม แต่การเผยให้เห็นสัจจะวัสดุ การไม่ปกปิดโครงสร้าง ก็จะช่วยให้บรรยากาศโดยรวมยังมีความเป็นอินดัสเทรียลได้เช่นกัน นอกจากนั้นการเลือกใช้วัสดุเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงทนทานอย่างโลหะ เช่น เก้าอี้ Navy Chair (หรือ Emeco 1006) เก้าอี้อะลูมิเนียมที่ได้แรงบันดาลใจจากเก้าอี้ในเรือดำน้ำ ไปจนถึงของตกแต่งอื่นๆ ก็ยิ่งช่วยขับเน้นความเป็นอินดัสเทรียลออกมา

ห้องครัวสไตล์อินดัสเทรียล


Photo from Instagram @creatingmyfamilyhome

หัวใจสำคัญของการตกแต่งห้องครัวสไตล์อินดัสเทรียลก็คือ การเผยให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุที่ไม่ได้มีการปรุงแต่ง เช่น การใช้ไม้หรือสเตนเลสที่ไม่ผ่านการเคลือบผิว นำไปทำท็อปเคาน์เตอร์ครัวและโต๊ะอาหาร ส่วนผนังห้องควรใช้วัสดุที่แข็งแรงทนทาน เช่น กระเบื้องซับเวย์ หรือ ปูนเปลือย เสริมด้วยโคมไฟเหล็กแขวนเพดานแบบไฟโรงงาน เพื่อสร้างกลิ่นอายตามแบบฉบับอินดัสเทรียล

ห้องน้ำสไตล์อินดัสเทรียล


Photo from Instagram @ekbbmag

ห้องน้ำสไตล์อินดัสเทรียลก็ให้ความสำคัญในเรื่องพื้นผิววัสดุเช่นเดียวกับห้องอื่นๆ โดยยังคงเน้นการเปิดเผยโครงสร้างและพื้นผิววัสดุ ยกตัวอย่าง เช่น การตกแต่งผนังด้วยอิฐหรือปูนเปลือย นอกจากนั้น การใช้อ่างอาบน้ำแบบตั้งพื้น อ่างล้างมือขนาดใหญ่ ถาดรองอาบน้ำ ไปจนถึงก๊อกน้ำสไตล์อินดัสเทรียล ก็ช่วยเสริมความเป็นอินดัสเทรียลให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

การตกแต่งสไตล์อินดัสเทรียลแบบอื่นๆ

อีกแขนงหนึ่งของการตกแต่งสไตล์อินดัสเทรียลก็คือ สตีมพังค์ (Steampunk) อันเป็นสไตล์ที่มีการผสมผสานความสวยงามของยุควิกตอเรียเข้ากับเครื่องจักรกล โดยมีการหยิบเอาองค์ประกอบของอินดัสเทรียลดั้งเดิม มาแปรสภาพให้กลายเป็นของที่มีประโยชน์ใช้สอย เช่น การนำท่อทองแดงมาทำโคมไฟหรือโครงชั้นวางของ เป็นต้น หากใครอยากลองตกแต่งสไตล์นี้ อย่าลืมหานาฬิกาแอนทีคและของตกแต่งเก่าๆ มาประดับห้องเพิ่ม ก็จะยิ่งน่าสนใจขึ้น

Photo from Porcelanosa