BECOMING CLASSIC BLUE

Design

Written by: Tanet Chantaket

09 January 2020

Views: 491

สืบเนื่องจากการที่ PANTONE เจ้าสำนักแห่งสีผู้ก่อสร้างร่างมาตรฐานการเทียบสี ประกาศให้สีน้ำเงินคลาสสิก หรือ Classic Blue เป็นสีแห่งปี 2020 พร้อมให้คำอธิบายว่าเป็นสีที่สะท้อนถึงความสงบ ความมั่นใจ และแสดงถึงการเชื่อมต่อซึ่งเป็นพื้นฐานหลักในการก้าวสู่ยุคสมัยใหม่เบื้องหน้า นอกจากนี้สีน้ำเงินคลาสสิกนี้ยังมีผลต่อความรู้สึก ช่วยนำความสงบสุขสันติภาพสู่จิตวิญญาณของผู้คนอีกด้วย


ซ้าย: อาร์มแชร์  Peyton Jory จาก Boonthavorn Lifestyle Furniture ขวา: พรมชิ้นลายกราฟิกลวงตา Endless ออกแบบโดย AQUILIALBERG ARCHITECTS จาก Illulian

จึงเป็นเรื่องแน่นอนว่าเหล่านกกาน้อยใหญ่ของทุกวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการออกแบบและตกแต่งบ้าน ต่างพากันทยอยสาดสีสันให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือจับของเก่ามาแกว่งตะกร้าล้างน้ำ ต้อนรับเทรนด์สีแห่งปีนี้ เราเลยคัดสรรเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่ง ของใช้น่าสนใจมาฝากไว้ให้ดูตื่นตาตื่นใจกัน แต่จะนำเสนอเพียงเท่านั้นคงจะน้อยไป ขอเล่าที่มาที่ไปของสีน้ำเงินที่มีเอกลักษณ์และความพิเศษกว่าสีอื่นใดในสายตาของผู้คนตั้งแต่อดีตกาล


ซ้าย: กระเบื้องปูผนัง LAVISH รุ่น BLUE SQUARE DECOR 02 จาก Boonthavorn ขวา: เก้าอี้ Archetto ออกแบบโดย Mauro Lipparini ของ Misura Emme


จากซ้ายไปขวา: กระบอกน้ำสุดฮิตแบรนด์ hydro flask, รองเท้า Cariuma รุ่น OCA Low สี PANTONE Classic Blue, ชั้นโคมไฟตั้งโต๊ะ AJ Table Lamp ออกแบบโดย Arne Jacobsen ของ Louis Poulsen

อย่างแรกคือเป็นสีที่ไม่ค่อยจะพบเห็นในธรรมชาติ (ไม่นับท้องฟ้าและทะเลนะจ๊ะ) เราพบเห็นสัตว์หรือแมลงที่มีสีน้ำเงินเพียงไม่กี่ชนิดเมื่อเทียบกับจำนวนสายพันธุ์ที่มีในโลกนี้ หรือแม้แต่ดอกไม้สีน้ำเงินก็มีไม่มากเมื่อเทียบกับดอกไม้สีอื่นๆ ถ้าในกรณีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสีน้ำเงินนั้น อาจจะเรียกได้ว่าไม่มีเลย


ซ้าย: หินแร่ลาพิส ลาซูลี่ (Lapis Lazuli) ที่มีสีน้ำเงินอันงดงามอันเป็นต้นเรื่องของความหลงใหลในสีน้ำเงินของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน Photo by Jiri Vaclavek on shutterstock ขวา: สีอัลตร้ามารีน (Ultramarine) ที่ได้จากแร่ชนิดนี้

สำหรับสีน้ำเงินที่เรานำมาใช้นี้ ก็ถือเป็นสิ่งที่หาได้ยากและถือเป็นของมีค่าในอดีตกาล เราเริ่มนำสีน้ำเงินมาใช้งานครั้งแรกโดยชาวอียิปต์เมื่อกว่า 6,000 ปี โดยเป็นการนำหินแร่ลาพิส ลาซูลี่ (Lapis Lazuli) ที่พบได้บนเทือกเขาในประเทศอัฟกานิสถานเพียงแห่งเดียว ชาวอียิปต์นำหินแร่สีน้ำเงินนี้มาใช้เป็นเพียงเครื่องประดับเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถสกัดเป็นเนื้อสีจากหินแร่ชนิดนี้ได้

จากหลักฐานพบว่าช่วงศตวรรษที่ 6-12 มีการค้นพบว่าสีน้ำเงินถูกนำมาใช้ในภาพเขียนฝาผนังถ้ำในอัฟกานิสถาน ภาพวาดในจีน และอินเดีย  ในยุคเรอเนซองซ์ หรือช่วงศตวรรษที่ 14-16 สีน้ำเงินจากหินแร่ดังกล่าว ได้รับความนิยมมาก ด้วยสีสันที่เป็นเอกลักษณ์และสวยงาม ประกอบกับความที่หายาก และการสกัดหินแร่ลาพิส ลาซูลี่ ให้เป็น ”เนื้อสี” ก็มีขึ้นตอนที่ยากซับซ้อน และจำเป็นต้องใช้แร่ที่มีความบริสุทธิ์มาก สีที่ได้จากแร่นี้มีชื่อว่า อัลตร้ามารีน (Ultramarine) ที่แปลได้ความว่า “ข้ามโพ้นน้ำข้ามทะเล” เพราะนำมาจากเหมืองในอัฟกานิสถานนั่นเอง ทำให้ในยุคนั้นเนื้อสีน้ำเงินนี้ถือว่ามีความล้ำค่ามากกว่าทองคำเสียอีก ศิลปินในสมัยนั้นนิยมใช้สีน้ำเงินอัลตร้ามารีนวาดชุดคลุมของพระแม่มารีย์ อันสะท้อนถึงความศักดิ์สิทธิ์และความอ่อนน้อมถ่อมตน

ถึงตอนนี้ใครๆ ก็อยากมีเครื่องแต่งกายสีน้ำเงินไว้ในครอบครองกัน ก็เลยอยากขอแทรกเรื่องเล่าถึง เรื่องราวของ “สีย้อม” สีน้ำเงิน ในยุโรปได้มีการทำสีย้อมสีน้ำเงินจากต้นโวด (Woad) ซึ่งกระบวนการนั้นก็ซับซ้อน และไม่น่าอภิรมย์เท่าไรนัก ผ้าที่นำมาย้อมต้องผ่านกระบวนการแช่ในปัสสาวะ ใช่แล้ว…อ่านไม่ผิด นานถึง 1 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ผ้าสีน้ำเงินอันสวยงาม จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 15 ได้มีการนำเข้าสีย้อมจากต้นครามมาจากเอเชีย ทำให้ครามกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจระดับโลก ขนาดถึงขึ้นเกิดเป็นสงครามการค้ากันเลยทีเดียว สงครามการค้าครามนี้สิ้นสุดลงไม่ใช่เพราะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้นะ แต่จบลงเพราะในปี ค.ศ. 1897 มีการผลิตครามสังเคราะห์โดยนักเคมีชาวเยอรมันจากบริษัทเคมีที่เราคุ้นชื่อ BASF ครามสังเคราะห์นี้มีสีเข้ม และมีอายุใช้งานยาวนาน แถมมีข้อได้เปรียบครามธรรมชาติ ซึ่งคุณภาพของผลผลิตจะขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศในแต่ละปี เป็นอันปิดฉากสีย้อมสีน้ำเงินไป


ภาพวาด "The Starry Night" ของวินเซนต์ แวน โก๊ะ ที่ใช้สีพลัสเชียน บลู (Prussian blue) เป็นส่วนหนึ่งของท้องฟ้ายามค่ำคืน (Photo from MoMA The Museum of Modern Art)

ขอย้อนกลับมาพูดถึง “เนื้อสี” อีกครั้ง ในช่วงศตวรรตที่ 17-18 มีการค้นพบเนื้อสีน้ำเงินสังเคราะห์ ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้หินแร่ลาพิส ลาซูลี่ ที่มีกระบวนผลิตอันซับซ้อนอีกต่อไป ในปี ค.ศ. 1709 นักวิจัยสีชาวเยอรมันค้นพบสีสังเคราะห์นี้โดยบังเอิญระหว่างการทดลองผลิตสีแดงสังเคราะห์ แต่ดันทะลึ่งออกมาเป็นสีน้ำเงิน โดยเรียกเนื้อสีน้ำเงินนี้ว่า พลัสเชียน บลู (Prussian blue) อันมาจากกรดพลัสสิค (Prussic acid) ที่เมื่อผ่านการกรองแล้ว จะได้เนื้อสีน้ำเงินนั่นเอง ทราบกันไหมว่า ภาพวาด "The Starry Night" ของวินเซนต์ แวน โก๊ะ ก็ใช้สีน้ำเงินนี้ในการวาดท้องฟ้ายามค่ำคืนในภาพอันโด่งดังนี้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1824 ก็มาถึงเหตุการณ์สำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนของสีน้ำเงินที่ใครๆ ก็สามารถครอบครองได้ โดยมีการค้นพบเนื้อสีน้ำเงินสังเคราะห์ อัลตร้ามารีน (Ultramarine) โดยนักเคมีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสีน้ำเงินโทนเดียวกับที่ได้มาจากหินแร่ลาพิส ลาซูลี่ อันมีค่า ส่งผลให้แทบจะเลิกใช้เนื้อสีจากแร่ธรรมชาติกันไปเลย


ซ้าย: สีโคบอลต์ บลู (Cobalt Blue) ขวา: สีฟอลโล่ บลู (Phthalo Blue)

เรื่องราวของสีน้ำเงินยังไม่จบง่ายๆ สีโคบอลต์ บลู (Cobalt Blue) ถือกำเนิดและถูกนำมาใช้ในงานกระเบื้องจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 แต่ในสมัยนั้น ไม่สามารถควบคุมสีให้มีความเที่ยงตรงสม่ำเสมอได้ การผลิตสีนี้ต้องใช้กระบวนทางเคมีที่ผ่านความร้อนสูงถึง 1,200 องศาเซลเซียส จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 เราสามารถควบคุมปฎิกิริยาทางเคมีให้สีโคบอลต์ บลู มีความเที่ยงตรงได้ ถือเป็นสีน้ำเงินที่สวยสุดสีหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว


ศิลปินอีฟว์ แกล็ง Yves Klein และผลงานชื่อ IKB-Godet ของเขา

สีน้ำเงิน ฟอลโล่ บลู (Phthalo Blue) เป็นสีออร์แกนิกจากสารเคมีธรรมชาติ ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 30 ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่สำคัญครั้งใหญ่หลังจากที่เราค้นพบสีพลัสเชียน บลู เมื่อกว่า 200 ปีก่อนหน้า และสีอัลตร้ามารีนเมื่อกว่า 100 ปี และเราก็สัมผัสกับสีน้ำเงินสีใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 1947 คือสีน้ำเงินอินเตอร์เนชันแนล แกล็ง บลู (International Klein Blue) หรือเรียกสั้นๆ ว่า IKB เป็นการสร้างสรรค์ของ อีฟว์ แกล็ง (Yves Klein) ศิลปินชาวฝรั่งเศส เขาคือผู้นิยามสีน้ำเงินสีใหม่ให้โลกใบนี้ ซึ่งหลังจากนั้นมาผลงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด หรือประติมากรรม จะใช้สีน้ำเงินนี้ทั้งชิ้นงาน ถือว่าอีฟว์ แกล็ง เป็นศิลปินคนสำคัญที่เปิดโลกแห่งการสร้างสรรค์ด้วยสีแบบโมโนโครม


“Bluetiful” สีน้ำเงินที่มาเต็มพาเล็ตต์สีของเครยอน (Crayola) แบรนด์สีเทียนระดับโลก ที่ใช้สี YInMn blue (ภาพ crayola.com)


ชาสีน้ำเงินของแบรนด์ TEALEAVES ชากลิ่นใหม่ที่ชื่อ PANTONE Color of the Year 2020 อันมีส่วมผสมหลักคือดอกอัญชัน

และในปี ค.ศ. 2009 โลกเราได้มีสีน้ำเงินเพิ่มอีกครั้ง สียินมิน บลู (YInMn blue) คือสีน้ำเงินน้องใหม่สุดที่เป็นการค้นพบโดยบังเอิญจากความผิดพลาดของการทดลองวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับสีน้ำเงินอื่นๆ ในอดีต ซึ่งค้นพบระหว่างการคิดค้นทดลองผลิตวัสดุที่สามารถกำเนิดไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองโดยศาสตราจารย์ Mas Subramanian นักเคมี และทีมวิจัยของเขาจากมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต เนื่องจากส่วนผสมดังกล่าวดูดซับคลื่นแสงสีแดงและสีเขียว สะท้อนเฉพาะคลื่นแสงสีน้ำเงิน ทำให้เกิดเป็นสารที่มีสีน้ำเงินที่เด่นชัด เรียกได้ว่าเป็นสีน้ำเงินที่แท้ทรูทางธรรมชาติ และทางวิทยาศาสตร์กันเลยทีเดียว

 ส่วนชื่อ YInMn blue นั้น มาจากส่วนผสม 3 อย่างที่ทำให้เกิดสี  อันได้แก่ อิตเทรียม (Yttrium) อินเดียม (Indium) และแมงกานีส (Manganese) แม้ว่าสีน้ำเงินนี้จะถูกค้นพบในปี ค.ศ.2009 แต่กว่าจะได้ออกสู่สายตาสาธารณชนก็ปาเข้าไปในปี ค.ศ. 2015 เมื่อถูกนำไปใช้เป็นสารเคลือบหลังคาในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อีกทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษที่สะท้อนความร้อนได้ดี แถมยังเป็นสารที่มีสีทนทาน ไม่ซีดจาง และไม่มีสารพิษใดๆ นับจากนั้นมา เราก็ได้เห็นสีน้ำเงินนี้ในสิ่งต่างๆ เช่น AMD ใช้สีน้ำเงินนี้เพื่อช่วยระบายความร้อนบนกราฟิกการ์ดตัวแรง และรวมถึงสีเครยอน (Crayola) สีเทียนชื่อดังที่เราหลายคนต้องเคยวาดเล่น ได้นำสีน้ำเงินนี้มาเป็นสีใหม่ของคอลเล็คชั่นภายใต้ชื่อสุดเก๋ว่า “Bluetiful” ในปี ค.ศ. 2017


ซ้าย: กระเบื้องปูผนัง LAVISH รุ่น ZAVIER AQUA จาก Boonthavorn ขวา: เก้าอี้ Series 7™ Chair ออกแบบโดย Arne Jacobsen ของ Fritz Hansen


ซ้าย: อาร์มแชร์ Art.30042 ที่ได้แรงบันดาลในจากสไตล์บาโรก ของ Angelo Cappellini ขวา: อาร์มแชร์ Derby ของ Smania


ซ้าย: ชั้นวางของอะคริลิค SOUND-RACK ออกแบบโดย Ludovica + Roberto Palomba ขวา: ชั้นวางของ COMPONIBILI ออกแบบโดย Anna Castelli Ferrieri ของ Kartell

และล่าสุดหมาดๆ ต้อนรับปี 2020 ที่ PANTONE ได้กำหนด น้ำเงินคลาสสิก หรือ Classic Blue เป็นสีแห่งปี ซึ่งบ่งบอกถึงเรื่องราวอันยาวนานของสีน้ำเงินจากอดีตสู่ปัจจุบัน และก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ข้างหน้า สีน้ำเงินนั้นถือว่าอยู่ในก้นบึ้งของแทบทุกวัฒนธรรม เป็นสีที่แนบสนิทในใจของมนุษย์ทุกคน เป็นสีแห่งความซื่อสัตย์และกล้าหาญ เป็นสีแห่งกษัตรา เป็นสีของท้องฟ้าท้องทะล และแน่นอนที่สุดว่าเป็นสีที่มนุษย์ต่างดาวต้องสะดุดตาหันขวับกับความงามของดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่สวยที่สุดในจักรวาลแห่งนี้