TOGETHER, WE BATH IN STYLE

Interiors

Written by: Tanet Chantaket

08 September 2020

Views: 127

การอาบน้ำรวมที่โรงอาบน้ำถือเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวญี่ปุ่น ในสมัยก่อนที่ผู้คนไม่มีห้องอาบน้ำที่บ้าน การไปโรงอาบน้ำสาธารณะถือเป็นกิจวัตรประจำ ซึ่งทำให้โรงอาบน้ำเป็นเสมือนที่พบปะของชุมชน แต่ในปัจจุบันเกือบทุกหลังคาเรือนมีห้องอาบน้ำ ดังนั้นโรงอาบน้ำจึงไม่ถูกสร้างขึ้นใหม่ แถมที่มีอยู่ก็ถูกใช้งานน้อยลงและเริ่มทยอยปิดตัวกัน แต่สำหรับเจ้าของโรงอาบน้ำ Koganeyu Sento ที่เปิดบริการมากกว่า 35 ปีนั้น มองว่าวัฒนธรรมการอาบน้ำรวม เป็นสิ่งที่ควรสืบทอดสู่คนรุ่นใหม่ จึงคงต้องปรับโฉมกันใหม่และหาวิธีดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้หันกลับมาใช้โรงอาบน้ำอีกครั้ง แม้ว่าพวกเขาจะมีห้องอาบน้ำในบ้านแล้วก็ตาม



การจะทำอย่างไรให้โรงอาบน้ำกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ในยุคที่ทุกบ้านมีห้องน้ำถือเป็นความท้าทาย และความท้าทายนี้ก็ตกเป็นหน้าที่ของ Jo Nagasaka สถาปนิกจาก Schemata Architects โดยเขาออกแบบพื้นที่และการใช้งานให้ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในปัจจุบัน ทำให้โรงอาบน้ำนี้เป็นเสมือน “ที่พักใจ” หรือ Third Place ที่ทุกคนสามารถไปปลีกวิเวก หรือไปแฮงเอาต์พบปะเพื่อนฝูงได้บ่อยครั้ง






สิ่งแรกที่สถาปนิกต้องการรักษาและต่อยอดคือการใช้กระเบื้องในการตกแต่ง สี่เหลี่ยมจัตุรัสถือเป็นเอกลักษณ์ของโรงอาบน้ำสไตล์ญี่ปุ่น เขาเลือกใช้กระเบื้องโมเสกทรงจัตุรัสขนาดเล็กสีครีมที่ปูได้สุดเนี้ยบตัดกับผนังปูนดิบๆ ในแบบอินดัสเทรียล ผลลัพธ์ที่ได้คือดูร่วมสมัยและสะท้อนกลิ่นอายดั้งเดิม พื้นที่ทางเข้าด้านหน้าจากเดิมที่มีผ้าม่านญี่ปุ่นปิดมิดชิดเพื่อความเป็นสัดส่วน ได้ถูกปรับให้เปิดโล่งด้วยกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ ขณะที่ล็อบบี้ด้านใน เดิมมีไว้คอยดูแลคนเข้า-ออก และแจกผ้าเช็ดตัว ได้ปรับเป็นบาร์เบียร์ที่มองเห็นได้ชัดเจนจากภายนอก ดูเชื้อเชิญให้เข้ามาหาเครื่องดื่มเย็นๆ ยามบ่าย หรือดื่มแก้กระหายหลังอาบน้ำ ขณะที่เคาน์เตอร์บาร์สูงยังใช้เป็นบูทดีเจเปิดเพลงเพื่อความบันเทิงอีกด้วย





ภายในห้องอาบน้ำรวมยังคงแยกฝั่งชายและหญิง แบ่งกั้นด้วยผนังที่ไม่สูงจรดเพดาน ทำให้คู่สามีภรรยา หรือพ่อแม่ลูกเรียกหากันได้ รวมถึงส่งสบู่-แชมพู ไปแบ่งใช้ร่วมได้เช่นเดียวกับในอดีต กระเบื้องโมเสกยังคงถูกนำมาใช้ภายในห้องอาบน้ำทั่วทั้งพื้นและผนัง กระเบื้องจัตุรัสชวนให้ระลึกถึงบรรยากาศจากอดีต นอกจากนี้กระเบื้องยังง่ายในการทำความสะอาดและร่องกระเบื้องที่ถี่ในลักษณะนี้ยังช่วยป้องกันการลื่นไถลในห้องอาบน้ำได้ดี และจะขาดไปไม่ได้ก็คือภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่นร่วมสมัยบนผนังที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ นับเป็นไฮไลต์ของโรงอาบน้ำเรื่อยมาตั้งแต่อดีต



โรงอาบน้ำสาธารณะ Koganeyu Sento ถือเป็นสถานที่ซึ่งใช้งานออกแบบเป็นตัวช่วยสานต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมให้สืบทอดต่อไปอย่างร่วมสมัย ทั้งฟังก์ชันการใช้งานที่รองรับไลฟ์สไตล์ผู้คนในปัจจุบัน และสไตล์การตกแต่งแบบโมเดิร์นเรโทรที่ดึงดูดทุกสายตา Design Village ก็ขอปรบมือให้กับงานออกแบบดีๆ ที่ทั้งสวยและช่วยสืบสานวัฒนธรรมเช่นนี้

Photography by Yurika Kono