MEMOIR OF THE MOSAIC

Design

Written by: Tanet Chantaket

29 October 2020

Views: 153

มิลาน เมืองที่มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมการออกแบบและสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่อดีต เป็นหนึ่งในเมืองที่มีสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอคลาสสิก (Neo-Classic) ที่สวยงามที่สุด หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มิลานได้เป็นสนามประลองสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และงานออกแบบร่วมสมัยที่สำคัญของยุโรป แม้ในปัจจุบัน มิลานก็ยังถือเป็นเมืองศูนย์กลางของแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ และงานออกแบบระดับโลก ซึ่งแน่นอนว่าในเมืองที่ถูกหล่อหลอมด้วยงานดีไซน์มายาวนาน ความสวยงามของงานออกแบบจึงถูกสรรสร้างไว้ในทุกซอกทุกมุม บางชิ้นงานตั้งอยู่ริมถนนโดยที่ผู้คนผ่านไปมาชินตาลืมสังเกต ขณะที่บางผลงานอาจถูกซ่อนในสถานที่ปิดซึ่งน้อยคนนักที่จะได้พบเห็น

ซ้าย : อาคาร Palazzo Ina ออกแบบโดย Piero Bottoni ขวา : ผนังอู่ซ่อมรถที่ถนน Canonica


ซ้าย : อาคารในย่าน Sesto San Giovanni ออกแบบโดย Piero Bottoni (1961 - 1971) ขวา : โรงละคร Teatro Filodrammatici di Milano (1968 - 1969) ออกแบบโดย Luigi Caccia Dominioni ลวดลายพื้นโมเสกออกแบบโดย Francesco Somaini


ในช่วงล็อกดาวน์จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มิลานก็เป็นเมืองที่มีการระบาดสูงลำดับต้นๆ ถนนหนทางในเมืองมิลานจึงร้างผู้คน ทำให้ Stefan Giftthaler ช่างภาพผู้มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำ และผู้เป็นชาวเมืองมิลาน ได้เห็นความสวยงามของลวดลายกระเบื้องโมเสกตกแต่งตามอาคารต่างๆ ซึ่งปกติจะถูกมองข้ามเพราะความวุ่นวายและความเร่งรีบของผู้คน เขาจึงได้ออกค้นหาและถ่ายภาพบันทึกลวดลายกระเบื้องโมเสกอันสวยงามของอาคารที่อยู่อาศัย อาคารธุรกิจและห้างร้านต่างๆ ในเมืองมิลาน ผลงานกระเบื้องโมเสกเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกสรรสร้างในช่วงปี 60s และ 70s โดยถือเป็นงานตกแต่งพื้นๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในยุคนั้น ซึ่งมาจากแนวคิดที่เชื่อว่าความสวยงามและการออกแบบมีส่วนช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้น กระทั่งในอาคารที่อยู่อาศัยหรือร้านค้าธุรกิจทั่วไปก็ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกอย่างสวยงามให้คนทั่วไปได้เห็นความงามของลวดลายกระเบื้องโมเสกในชีวิตประจำวัน


ซ้าย : อาคารเลขที่ 10 ถนน Olmetto ขวา : อาคาร Galleria Strasburgo (1957 - 1957) ออกแบบโดย Luigi Caccia Dominioni ลวดลายพื้นโมเสกออกแบบโดย Francesco Somaini


ซ้าย : อาคารเลขที่ 22 ถนน Brioschi ขวา : อาคารเลขที่ 2 ถนน Ilarione Rancati


ผลงานระดับเทพที่สร้างสรรค์โดยช่างฝีมือและศิลปินโมเสกทั้งที่มีชื่อเสียงและนิรนาม ถูกบันทึกผ่านผลงานภาพถ่ายกว่า 50 ภาพ ภายใต้ชื่อคอลเล็กชันผลงาน Surfaces of Milan ที่นำเสนอความสวยงามแบบบ้านๆ อันเป็นฉากหนึ่งของประวัติศาสตร์งานออกแบบสร้างสรรค์ที่แม้แต่ชาวมิลานเองยังมองข้ามเพราะความคุ้นเคย โดย Stefan ได้บอกว่า “คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าทำไมผมสนใจกระเบื้องโมเสกตกแต่งเก่าๆ พวกนี้ ซึ่งผมก็ต้องคอยอธิบายทุกครั้งที่ถ่ายภาพ”

ซ้าย : อาคารเลขที่ 21 ถนน Ilarione Rancati ขวา : อาคารเลขที่ 7 ถนน Montepulciano

ในบ้านเราก็มีผลงานกระเบื้องโมเสกตกแต่งที่สวยงามในอาคารเก่าๆ แต่ผืนกระเบื้องหรือแม้แต่ตัวอาคารเหล่านั้นเองก็ค่อย ๆ ถูกทดแทนด้วยสิ่งทันสมัย อาจมีคนบางกลุ่มที่เข้าใจและอนุรักษ์ความสวยงามจากอดีตให้คงไว้ หากใครผ่านไปพบงานกระเบื้องโมเสกโบราณสวยๆ (ไม่ว่าที่ไทยหรือที่ไหน) ก็อย่าลืมบันทึกภาพไว้ เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ภาพถ่ายเป็นสิ่งเดียวที่จะบอกเล่าเรื่องราวของอดีตได้ดีที่สุด สนใจกระเบื้องโมเสกสวยๆ หลากหลายลวดลาย คลิกที่นี่