IN THE WORLD OF DETAIL
Written by: Ideas Magazine
01 August 2019
Views: 276
"เมื่อข้อมูลต่าง ๆ หาได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว การสร้างงานที่แตกต่าง จึงอยู่ที่วิธีคิดและรายละเอียดของงานออกแบบ"
เช้าวันแดดแรงวันหนึ่ง เรามาพบกับพี่เป้ - จีรเวช หงสกุล ผู้ก่อตั้ง IDIN ARCHITECTS ถึงที่ออฟฟิศของเขา แรกเริ่มเราเตรียมชุดคำถามเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน การคิดงานอย่างไร ที่ทำให้งานของ IDIN ARCHITECTS มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แถมการันตีด้วยรางวัลมากมาย แต่สุดท้ายเราพบว่า ระหว่างบทสนทนานั้น เรากลับรู้สึกได้ถึงพลังงาน และแรงบันดาลใจที่ส่งต่อถึงเราตลอดเวลา แม้จะไม่ได้พูดคำว่า “แรงบันดาลใจ” เลยก็ตาม
อยากให้เล่าลักษณะงานที่ทำของ IDIN ARCHITECTS ครับ
งานที่เราทำตอนนี้มีทั้งบ้านและอาคารสาธารณะอย่างโรงแรม โดยที่เราทำทั้งตัวอาคารหรือสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายในด้วย ซึ่งหลัง ๆ มานี้โครงการโรงแรมค่อนข้างเยอะ เทียบกับเมื่อก่อนจะทำโครงการบ้านเป็นส่วนใหญ่
ประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการออกแบบอาคาร
จริง ๆ แล้วส่วนตัวชอบทุก ๆ งานที่ได้ทำ เพราะทุกงานจะมีความน่าสนใจในการแก้ปัญหา การตอบโจทย์ที่ต่างกันออกไป ผมขอยกตัวอย่างอาคารที่เพิ่งได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมที่สมควรเผยแพร่ จากโครงการผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2559 ซึ่งมีทั้งหมด 4 หลังด้วยกัน ได้แก่
Choui Fong Tea Cafe
Photo from Choui Fong Tea Cafe
ไร่ชาฉุยฟง จังหวัดเชียงราย สถาปัตยกรรมที่ดูโดดเด่น แต่กลมกลืนไปกับภูมิประเทศ เพราะสถาปนิกออกแบบให้ตัวอาคารด้านหนึ่งถูกฝังลงไปในเนินเขาส่วนที่สูงที่สุด ฉะนั้นเมื่อยืนอยู่ที่จุดนั้น ก็จะยังคงเห็นธรรมชาติที่สวยงามครบถ้วนโดยไม่มีตัวอาคารมาบดบัง แต่หากมองจากอีกด้านซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน จะเป็นทางลาดลงของเขา สถาปนิกออกแบบอาคารให้ยื่นลอยออกไปกลางอากาศนับสิบเมตร เป็นความโดดเด่นที่มีความถ่อมตนต่อสภาพแวดล้อมผสมผสานกันไปอย่างลงตัว
Lima Duva Resort
Photo from Lima Duva Resort
รีสอร์ท Lima Duva Resort ตั้งอยู่ที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ที่ตีความจากคำติดปาก “ไปเสม็ด เสร็จทุกราย” กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความน่าค้นหา น่าหลงใหล มีความโรแมนติกในรูปแบบที่สถาปัตยกรรมจะสามารถสื่อสารได้ ผ่านการออกแบบพื้นที่ ช่องเปิด ช่องแสง สี วัสดุ และมุมมองต่าง ๆ ภายในรีสอร์ทนั่นเอง
SIRI House
อาคารตึกแถวเดิมที่ได้รับการปรับปรุง ภาพลักษณ์แบบเดิมๆ ถูกเปลี่ยนเป็นบ้านตึกแถวที่มีรูปแบบที่น่าอยู่ เหมาะสมกับสภาพอากาศของเมืองไทยมากขึ้น ทั้งเรื่องของการเชื่อมต่อพื้นที่ทางตั้ง ที่อาคารตึกแถวแบบเดิมไม่มี หรือการเปิดช่องแสงขนาดใหญ่ควรคู่กับการให้ธรรมชาติทั้งแดดและฝน สามารถเข้ามาได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญคือการปรับหน้าตาของอาคารเก่าให้กลายเป็นบ้านโมเดิร์นดูทันสมัย แตกต่างจากของเดิมอย่างสิ้นเชิง
KA House
บ้านพักตากอากาศที่เขาใหญ่ มีการคิดเรื่องการจัดวางพื้นที่ที่ลงตัวและแตกต่างจากบ้านทั่วไป โดยเลือกที่จะวางตัวบ้านติดชิดด้านที่เป็นถนนทางเข้าบ้าน และเหลือพื้นที่ด้านหลังบ้านซึ่งติดกับบึงธรรมชาติ เพื่อให้เกิดพื้นที่เปิดโล่งและให้เจ้าของบ้านได้ใช้เวลาทำกิจกรรมภายนอกบ้านมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเล่นระดับภายในบ้าน ให้เกิดการใช้งานที่น่าสนใจ เป็นสัดส่วน การนำแสงเงาเข้ามามีบทบาทกับพื้นที่ภายในและทำให้ตัวบ้านมีมิติจากการยื่นและหดของตัวบ้านที่น่าสนใจ
อยากให้เล่าถึงโปรเจ็กต์ล่าสุดที่เพิ่งทำเสร็จ
บ้าน T House เป็นบ้านพักตากอากาศเช่นกัน ตั้งอยู่ที่หาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี โดยโจทย์หลักในการออกแบบบ้านหลังนี้คือ การออกแบบบ้านพักตากอากาศที่มีผู้ใช้งานเป็นครอบครัวใหญ่ ใช้งานครั้งละ 10 คนขึ้นไป แนวคิดในการออกแบบจึงเป็นการสร้างพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันของคนในครอบครัว ทั้งภายใน ภายนอกบ้าน โดยทุกพื้นที่ในบ้านรวมถึงห้องนอนสามารถหล่อหลอมรวมเป็นพื้นที่เดียวกันได้ กิจกรรมสามารถไหลเวียนไปทุกจุดจนทุกคนเหมือนอยู่พื้นที่เดียวกัน โดยที่แต่ละห้องนอนนั้นยังคงมีความเป็นส่วนตัวได้มากตามที่ต้องการ ด้วยทิศทางการจัดวางห้องต่าง ๆ บวกกับการใช้ผนังห้องที่สามารถเปิด - ปิด เพื่อรับแสงธรรมชาติหรือรับวิวที่สวยงามได้เมื่อต้องการ ดีเทลของงาน วัสดุ และโทนสีของบ้าน ส่งเสริมรูปลักษณ์ของอาคารให้ดูทันสมัย เรียบง่าย แต่คงไว้ซึ่งความเนี้ยบและตรงไปตรงมา
Photo from T House/ KA House
ขั้นตอนการทำงานแต่ละโปรเจ็กต์มีวิธีส่งต่อจินตนาการให้กับลูกค้าอย่างไร
เมื่อได้รับโจทย์มาจากลูกค้าแล้ว เราก็จะนำมาต่อยอดความคิดด้วยแนวคิดที่เพิ่มเติมไปจากสิ่งที่ได้รับมา โดยเราอยากให้ทุก ๆ งานมีความสนุกสนาน มีอารมณ์อยู่ในงานนั้น ๆ ด้วย เราเข้าใจว่างานสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่หากจะอธิบายให้กับคนอื่นเข้าใจได้ ต้องอาศัยกระบวนการและสิ่งอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น การทำแบบที่เข้าใจง่าย การตัดโมเดล การทำภาพ 3D พรีเซ็นเทชั่น หรือวิธีการอธิบายแบบง่าย ๆ ผมมักจะเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมกับสิ่งใกล้ตัวที่เราเจอบ่อย ๆ เช่น เปรียบเทียบกับเรื่องของเพลง ภาพยนตร์ รถยนต์หรือสิ่งของต่าง ๆ รอบตัว เพราะทุกสิ่งเชื่อมโยงและใช้แนวคิดในการออกแบบสร้างสรรค์ไม่ต่างกัน ผมจะพยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจแบบมากที่สุด เพื่อให้เกิดงานสุดท้ายที่ทุกคนพอใจกับมัน
คิดว่าทิศทางการออกแบบโดยรวมจากนี้ไป จะแตกต่างจากเดิมไหม
หากนึกย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 - 20 ปีก่อน จะเห็นได้ว่ารูปแบบของสถาปัตยกรรมและการออกแบบจะมีความเฉพาะตัว มีความเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกได้ว่าหาได้เฉพาะในพื้นที่นั้น แต่เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป การรับรู้ของคนรวมถึงของลูกค้าก็มีความกว้างไกลมากขึ้น “โลกใบเล็กลง... ทุกคนเห็นสิ่งเดียวกันกับที่สถาปนิกเห็น”
หลายครั้งที่มีเจ้าของบ้านมาหาพร้อมกับบอกว่าชอบงานของ Rem Koolhaas สถาปนิกชื่อดังระดับโลกที่มีความโดดเด่นเรื่องการจัดวางโปรแกรมของอาคารที่น่าสนใจ หรืออีกเจ้าหนึ่งก็มาบอกว่าชอบงานของ Bjarke Ingels สถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีการคิดรูปแบบอาคารจากการวิเคราะห์บริบทที่ต่างออกไป ทั้งหมดเป็นสิ่งที่แสดงว่า โลกใบเล็กลงด้วยเทคโนโลยี ลูกค้าเห็นงานดี ๆ มากขึ้น ฉะนั้นความรู้ต่าง ๆ ก็มากขึ้นเช่นกัน
ในการสร้างงานแต่ละชิ้น สถาปนิกอย่างเราจึงต้องลงลึกและชัดเจนในวิธีคิดของตัวเองให้มากขึ้น เพราะเราทุกคนไม่มีใครเหมือนกันแน่นอน ถ้าสามารถถ่ายทอดสิ่งนั้นออกมาได้ งานของแต่ละคนก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่มีทางเหมือนกัน เพราะหากมองจากมุมกว้างที่เป็นงานออกแบบที่หลากหลายจากทั่วโลก เราอาจเห็นและตัดสินว่า งานที่มีหน้าตาโมเดิร์นคล้าย ๆ กันนั้นดูเหมือนกันไปทั้งหมด ไม่มีอะไรใหม่ แต่สิ่งที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่างานนั้น ๆ เป็นงานของใคร หรือดีอย่างไร คือเรื่องของวิธีคิดและดีเทลของงาน แม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ แต่สิ่งนี้จะส่งผลถึงภาพรวมของงานได้อย่างคาดไม่ถึง
ในอนาคตผมจึงคิดว่า การออกแบบที่ดีหรือไม่ดีจะวัดกันที่วิธีคิด วิธีการตอบคำถามที่น่าสนใจ และดีเทลของแต่ละงาน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาก งานออกแบบในภาพกว้างจะมีความซับซ้อนในรายละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบบก่อสร้าง การลงรายละเอียดงานก่อสร้าง การคำนวณหรือวิเคราะห์โครงสร้าง โปรแกรมและเทคโนโลยีช่วยได้มาก แต่สุดท้ายแล้ว รูปแบบทั้งหมดเมื่อมาประกอบกันจะต้องเรียบง่ายที่สุด เข้าถึงได้ง่ายที่สุด
จะเห็นได้ว่า งานออกแบบที่จะสร้างความแตกต่างและหลุดไปจากกรอบเดิม ๆ ไม่จำเป็นต้องดูแปลกแยกหรือไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่อาจเป็นเพียงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยู่ภายในงาน ที่จะส่งผลถึงภาพรวมและทำให้อาคารนั้น ๆ เป็นอาคารที่ไม่มีใครเหมือนก็เป็นได้... สำหรับครั้งต่อไป เราจะไปพูดคุยกับนักออกแบบคนไหน ติดตามกันต่อไปครับ
โลกใบเล็กลง... ทุกคนได้เห็นงานออกแบบต่าง ๆ เหมือนกับที่สถาปนิกเห็น
แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้มุมมองของผู้ที่เป็นสถาปนิกต่างออกไปจากมุมมองของคนทั่วไป?