LA FRABICA

Architecture

Written by: Ideas Magazine

16 August 2019

Views: 88

ใครจะไปคิดว่า วันหนึ่งไซโลของโรงงานผลิตซีเมนต์จะกลายมาเป็นบ้านพักและสตูดิโอสุดหรูได้ และวันนี้เอง Ricardo Bofill สถาปนิกชื่อดังชาวสเปนก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปได้

เขาไปพบโรงงานซีเมนต์เก่าแห่งนี้ในย่าน Sant Just Desvern ซึ่งเป็นเมืองใกล้ ๆ กับบาร์เซโลนา ตอนนั้นเป็นเพียงซากปรักหักพัง แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความงามของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เหมือนกับหยุดเวลาเอาไว้ตั้งแต่ปี 1973 พอดีกับยุคแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 การทำงานเริ่มแรกจึงต้องเริ่มจากการเคลียร์พื้นที่ภายในออกเพื่อให้เห็นสเปซภายในที่แท้จริง แล้วเขาก็พบกับความสวยงามผิดสัดส่วนอย่างน่าประหลาด บันไดแบบเซอร์เรียลที่ไม่เห็นที่มาที่ไปจัดวางอยู่ในช่องว่างที่ดูไม่สมมาตรที่ประกอบขึ้นจากวัสดุที่แข็งแกร่งและสวยงาม ทำให้เขาต้องการรักษาจิตวิญญาณดั้งเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด

การบูรณะในครั้งนี้เหมือนกับการทำงานศิลปะ เพราะต้องจินตนาการว่า จากไซโลสูง ๆ จะต้องเว้นช่องเปิดประตูหน้าต่างทรงโค้งแบบไหนเพื่อให้ยังคงคาแรคเตอร์เดิมไว้ให้ได้จากความช่วยเหลือจากช่างฝีมือท้องถิ่นชาว Catalan ขั้นต่อมาคือ การเพิ่มสีเขียวสร้างชีวิตชีวาให้กับบริเวณโดยการใช้ไม้เลื้อยเกาะกับกำแพงและแขวนทอดลงมาจากหลังคาด้านบน จนมาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ การใส่ฟังก์ชันให้กับงานอินทีเรียร์ภายใน ด้วยการเพิ่มโครงสร้างใหม่ให้เหมาะกับการใช้งานตามที่วางแปลนเอาไว้



พื้นที่ภายในประกอบด้วยส่วนสตูดิโอที่ถูกแบ่งเป็น 4 ชั้น เชื่อมต่อกันด้วยบันไดวน เน้นสร้างสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ อย่างชั้นล่างสูงถึง 4 เมตร ยังคงผนังพื้นผิวแบบเดิมทำสีขาว ชั้นใต้ดินซึ่งเป็นอุโมงค์ยาว 4 กิโลเมตร เปลี่ยนเป็นแกลเลอรีที่เก็บโมเดลและผลงานต่าง ๆ โถงกลางใช้เป็นห้องประชุมและโถงนิทรรศการสูงโอเวอร์สเกลถึง 10 เมตรจากทรงกระบอกสูงของไซโล โดยยังคงเก็บรักษาพื้นผิวจริงของผนังไว้ทั้งหมด เพื่อรักษาความทรงจำถึงสถานที่เดิมที่เคยเป็นมา เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเลือกใช้วัสดุไม้ เหล็ก เฟอร์นิเจอร์บุหนัง และสุดท้ายคือ ส่วนที่พัก ชั้นล่างสุดเป็นครัวและพื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของครอบครัว ก่อนจะยกชั้นบนให้เป็นพื้นที่นั่งเล่นขนาดยักษ์ที่โอบล้อมด้วยหน้าต่างบานโค้งมองเห็นวิวทอดยาวออกไปสุดสายตา

การอนุรักษ์อาคารเก่าให้ยังคงจิตวิญญาณดั้งเดิมไม่ใช่เรื่องยาก เพียงลองนำตัวเองใส่ลงไปในประวัติศาสตร์ ซึมซับความรู้สึกนึกคิดช่วงนั้น เมื่อผสานความรู้และฟังก์ชันแบบสมัยใหม่ ก็เป็นการชุบชีวิตให้อาคารหลังใหม่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าที่เปิดต้อนรับและสร้างประสบการณ์ร่วมให้ผู้มาเยือนอย่างไม่มีล้าสมัย