S PACE STUDIO

Architecture

Written by: Ideas Magazine

16 August 2019

Views: 1,075


(ซ้าย) AGRO OUTLET KKU อาคารทรงสามเหลี่ยมสำหรับจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   
(ขวา) โปรเจ็กต์แรก “บ้านขนาด 8 ตร.ม.” ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ทุกที่


สถาปนิกเลือดอีสานที่กำลังฮ็อตมากที่สุดเวลานี้คงหนีไม่พ้น บริษัท S PACE STUDIO ที่ฝากผลงานโดดเด่นมาแล้วหลายงาน โดยเฉพาะการทิ้งลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ที่ AGRO OUTLET KKU อาคารทรงสามเหลี่ยมสุดโดดเด่นในพื้นที่ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีหัวเรือใหญ่อย่าง คุณทวิชากร เหล่าไชยยงค์ และ คุณปัณณพัฒน์ เพ็ชรจรัส ศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สละเวลามาให้สัมภาษณ์ เพื่อให้หายสงสัยว่าอะไรคือแรงบันดาลใจที่ช่วยขับเคลื่อนพลังความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงมีวิธีรับมือกับอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ที่แวะเวียนเข้ามาอย่างไร

ความเป็นมาของ S Pace Studio
S Pace Studio ก่อตั้งขึ้นตอนเรียนอยู่ปี 4 โดยเริ่มจากการทำเพจในเฟซบุ๊กเพื่อให้คนอื่นได้เห็นผลงานของเรา พอปี 5 เรามีโอกาสได้ทำงานประกวดแบบ และทำธีสิส ตอนนั้นเองจึงเริ่มมีลูกค้าเข้ามาเห็นผลงาน และเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ

แม้จะอายุยังน้อย แต่มีโอกาสเรื่องงานเข้ามา คิดว่าเป็นเพราะอะไร
น่าจะเป็นเรื่องของการทุ่มเทในการทำงาน แล้วลูกค้านำไปบอกต่อปากต่อปาก เป็นการช่วยการันตีให้ตัวผู้ออกแบบได้อีกทางว่าเขามีความมั่นใจว่าสถาปนิกคนนี้จะอยู่กับเขาไปจนเสร็จงานแบบตลอดรอดฝั่ง เท่าที่ผมมอง ‘ลูกค้า’ คือผู้ที่ยืนยันในฝีมือของเราได้มากกว่าเรื่องอื่น ๆ เลยละครับ

ส่วนใหญ่ลูกค้ารู้จัก S Pace Studio ได้จากช่องทางไหน
ครึ่งหนึ่งมาจากเพจ อีกครึ่งเป็นการแนะนำปากต่อปาก บางเคสเดินทางไปดูไซต์จริงที่เราสร้างเสร็จ จากนั้นจึงไปขอเบอร์ติดต่อที่ไซต์เลยก็มี

งานส่วนใหญ่ที่รับเป็นงานประเภทใดบ้าง
ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านพักอาศัยและร้านอาหารครับ

ถนัดงานแนวไหน
ขอตอบว่าชอบแบบไหนจะดีกว่าครับ ผมชอบออกแบบบ้านพักอาศัย แต่ถ้าเป็นอาคารสาธารณะที่มีการออกแบบสเปซ อย่างร้านอาหารหรือรีสอร์ท ก็เป็นสิ่งท้าทายและสนุกไปอีกแบบ เพราะทั้งสองงานล้วนมีความแตกต่างทั้งในเรื่องของฟังก์ชันและอารมณ์ในการออกแบบ

ถนัดงานด้านฟังก์ชันหรือดีไซน์มากกว่ากัน
ถ้าให้ผมพิจารณาตัวเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันแต่ถ้าตามแบบที่ตัวเองเข้าใจ ผมมองว่าระหว่างการออกแบบฟังก์ชันกับองค์ประกอบอาคารหรือเรื่องความสวยงามนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะทุกอย่างต้องออกแบบไปพร้อม ๆ กัน โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของเจ้าของโครงการและบริบทรอบ ๆ ให้มากที่สุด

แต่ละโปรเจ็กต์มีสไตล์การทำงานเป็นอย่างไร
ขั้นแรกต้องไปดูไซต์ก่อน เพื่อดูหน้างานว่ามีอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่และบริบทโดยรอบบ้างแล้วนำมาวิเคราะห์ทางกายภาพ หลังจากนั้นผมถึงจะไปคุยกับลูกค้า เพื่อสอบถามความต้องการ ความชอบ อุปนิสัย ไปจนถึงข้อจำกัดต่าง ๆ แล้วจึงเสนอแบบเบื้องต้นก่อนการทำสัญญา โดยทำทัศนียภาพจำลอง 2 - 3 ภาพ เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อลูกค้าทำสัญญาแล้ว จึงทำแบบ 3 ออปชั่น เพื่อให้ลูกค้าเลือกสิ่งที่ดีที่สุด จากนั้นก็กลับไปพัฒนาแบบ เขียนแบบก่อสร้าง รวมไปถึงขั้นตอนการก่อสร้าง ผมกับทีมงานจะชอบเข้าไปดูหน้างานก่อสร้างค่อนข้างบ่อย เพราะเรามองว่างานก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ นอกจากช่วยเพิ่มประสบการณ์ให้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างได้ด้วย ส่วนงานออกแบบแลนด์สเคปและตกแต่งภายใน เรายังได้มีส่วนช่วยดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ เสมือนเป็นเพื่อนกับเจ้าของบ้านไปเลย

ส่วนตัวมีเกณฑ์พิจารณาการเลือกรับโปรเจ็กต์ต่าง ๆ อย่างไร
กรณีแรกคือ เราจะไม่ทำงานเร่ง เพราะผมไม่ใช่คนบ้างานจนถึงขั้นต้องอดหลับอดนอน โอเคว่าเมื่อรับงานมาแล้ว เราต้องทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องอยู่ในสัดส่วนที่สมดุลกับชีวิตด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น มีเวลาได้ออกกำลังกาย ไปเที่ยว พบปะเพื่อน ๆ และอยู่กับครอบครัว

กรณีที่สองคือ งานที่ลูกค้าต่อราคาค่าแบบเรามาก ๆ จนทุกอย่างขึ้นอยู่กับค่าแบบ ลักษณะนี้เหมือนลูกค้าไม่เห็นคุณค่าในงานออกแบบของเรา ต้องการแค่ใครมาเขียนแบบให้ก็ได้เท่านั้น เหมือนเป็นการไม่ให้เกียรติกัน

อีกกรณีคือ โปรเจ็กต์ที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะทาง หรือต้องมีประสบการณ์สูง เช่น งานออกแบบโรงพยาบาล เราต้องขอปฏิเสธเพื่อจะขอสะสมประสบการณ์ก่อนสักระยะ


งานแรกที่รับคืออะไร
เป็นบ้านขนาดเล็กมาก ๆ ครับ ซึ่งเป็นอีกงานหนึ่งที่ผมรักมาก โปรเจ็กต์นี้เป็นบ้านพักในสวนขนาดเพียง 8 ตารางเมตร ออกแบบภายใต้งบประมาณเพียง 75,000 บาทเท่านั้น เกิดจากความต้องการของเจ้าของที่อยากได้บ้านหลังเล็ก ๆ ไว้สำหรับใช้เฝ้าสวน เนื่องจากมีสวนอยู่หลายๆ แห่ง จึงอยากย้ายบ้านหลังนี้ไปได้ทุกที่ บ้านหลังนี้จึงมีลักษณะคล้ายบ้านน็อคดาวน์ สามารถถอดประกอบได้ ถือเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่สนุกมาก

อยากทราบวิธีการรับมือกับอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ระหว่างการทำงาน
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าออฟฟิศเราค่อนข้างจะยึดหลักธรรมะ เมื่อเจอปัญหาเราต้องยอมรับในข้อผิดพลาด เข้าใจแก่นของปัญหาว่าเกิดจากอะไร ไม่ว่าจะเป็นทางลูกค้าหรือตัวเราเอง แล้วจึงค่อย ๆ แก้ไขกันไป ส่วนเรื่องการรับมือกับความเครียด ผมว่าการได้อยู่กับครอบครัวและการออกกำลังกายถือเป็นตัวช่วยที่ดี นอกจากนี้เรายังมองว่าปัญหาที่เข้ามานั้นจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราและลูกค้าในอนาคต เพราะเราสามารถเลี่ยงสาเหตุและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างมีสติ

ประทับใจโปรเจ็กต์ไหนที่เคยออกแบบมามากที่สุด
ประทับใจทุกชิ้นเลยครับ แต่คนละประเด็นกัน เหมือนอย่างเรามีเพื่อนก็ไม่ใช่ว่าเพื่อนคนเดียวจะทำให้เราประทับใจได้ทุกเรื่อง งานสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน เพราะแต่ละงานมีวัตถุประสงค์ในการออกแบบที่แตกต่างกันไป

โปรเจ็กต์ไหนที่ใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างนานที่สุด
เป็นโปรเจ็กต์การออกแบบบ้านขนาด 3,000 ตารางเมตร ไซต์อยู่ที่โคราช ยิ่งบ้านใหญ่เราก็ต้องดูอย่างละเอียด อีกหนึ่งสิ่งคือโปรเจ็กต์บ้านหลังนี้เข้ามาตอนที่เรามีประสบการณ์ในการก่อสร้างมากพอสมควร นั่นยิ่งทำให้เรามีไอเดีย และรู้จักนำประสบการณ์ต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะกับบ้าน แม้จะต้องใช้เวลาในการออกแบบค่อนข้างนาน แต่ลูกค้าก็พร้อมจะรออย่างเข้าใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่โชคดีมาก ๆ

ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นคนทางภาคอีสานหรือภาคอื่น ๆ ด้วย
กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนอีสานครับ อีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล


ร้านต้นเครื่องลาว หลวงพระบาง พื้นที่ใช้สอย 120 ตร.ม.

ช่วยเล่าโปรเจ็กต์ “บ้านชมสวน” ให้ฟังหน่อย
บ้านชมสวนเป็นงานที่ค่อนข้างท้าทายและสนุกมาก บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่สามเหลี่ยมขนาด 180 - 200 ตารางเมตร ในหมู่บ้านจัดสรรที่ทางหมู่บ้านมีกฎบังคับให้ใช้หลังคาปั้นหยาสีฟ้าหยกพิมานเท่านั้น เราจึงต้องใช้หลังคาตามที่กำหนดอย่างเลี่ยงไม่ได้ ส่วนเรื่องฟังก์ชันการใช้งานก็สนุก เนื่องจากเจ้าของบ้านเป็นคนสมถะ และอยู่กับคุณพ่อเพียงสองคนเท่านั้น เราจึงออกแบบเป็นบ้านชั้นเดียว ค่อย ๆ ใช้คอนทัวร์เป็นการไล่สเต็ปการเข้าถึง และทำคอร์ตสวนในบ้านเป็นตัวแอล (L) สำหรับเป็นพื้นที่พักผ่อนให้ทุกคนในบ้านสามารถออกมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ตลอดทั้งวัน




บ้านชมสวน พื้นที่ใช้สอย 200 ตร.ม. จังหวัดขอนแก่น

ถึงแม้จะเกิดปัญหาขึ้น เราไม่มีวันทิ้งลูกค้าเด็ดขาด ผมแสดงให้เห็นเลยว่าเราจริงใจในการแก้ปัญหา ซึ่งความจริงใจและความซื่อสัตย์นี้ ถือเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญมาก ๆ ในอาชีพ

Snap Café

เจ้าของเขา walk in เข้ามาที่ออฟฟิศ หลังจากได้เห็นผลงาน AGRO OUTLET KKU อีกอย่างโปรเจ็กต์ร้าน Snap Café ยังเป็นร้านอาหารแรกของออฟฟิศ มีงบประมาณจำกัดเพียง 1.2 ล้านเท่านั้น เราจึงตัดสินใจรับงาน โปรเจ็กต์นี้มีจุดเด่นอยู่ที่การทำกำแพงอิฐโค้ง เนื่องจากเราพิจารณาแล้วว่าบริบทรอบๆ ไม่เหมาะกับการดึงคนเข้ามา การสร้างกำแพงจึงเปรียบเสมือนการแบ่งพื้นที่และเลือกเส้นโค้งให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหว กระตุ้นความสนใจให้คนอยากเข้ามาในร้าน นอกจากนี้เรายังต้องการทำกำแพงสีเขียวเพื่อสร้างมุมมองที่สบายตา ด้วยการเลือกใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับและเก็บความชื้นได้ดี เพื่อให้ต้นตีนตุ๊กแกขึ้นคลุมจนเต็มทั่วทั้งกำแพง


Snap Café ร้านอาหาร พื้นที่ใช้สอย 120 ตร.ม. มีจุดเด่นด้วยอาคารโครงสร้างเหล็กทันสมัยและกำแพงอิฐโค้ง

AGRO OUTLET KKU

โครงการนี้เกิดจากทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้เป็นอาคารสำหรับจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรจากคณะ โดยใช้พื้นที่ในอุทยานเทคโนโลยีการเกษตรของคณะเกษตรฯเอง ตัวอาคารเป็นสามเหลี่ยมสี่หลังเรียงกัน หันหน้าขนานไปกับถนนในมหาวิทยาลัย ได้รับแรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พอก่อสร้างเสร็จก็ตอบโจทย์ได้ดีทั้งในเรื่องของฟังก์ชันและเอกลักษณ์ของอาคารที่ช่วยสร้างความน่าจดจำได้เป็นอย่างดี


AGRO OUTLET KKU

คำถามสุดท้าย มองตัวเองในอีก 5 - 10 ปี ยังไงบ้าง
อีก 5 - 10 ปีข้างหน้า ผมไม่ได้มองว่าบริษัทจะต้องใหญ่โตหรือมีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะผมเข้าใจว่ามันจะต้องมีหน้าที่อย่างอื่นเข้ามาทำให้เราต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไป เราอยากให้งานของเรานั้นออกมาดีเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยคนต้องรู้จักเพราะงานของเรามีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในวงการ แต่อีกด้านเราก็ยังมีไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตที่ดีเหมือนเดิม อย่างมีเวลาออกกำลังกายและได้อยู่กับครอบครัว ไม่ได้อุทิศชีวิตให้กับการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

ความรู้สึกหลากหลายเกิดขึ้นหลังจากได้พูดคุยกับสถาปนิกหนุ่มจาก S Pace Studio โดยเฉพาะมุมมองในเรื่องของการทำงานและการใช้ชีวิต อย่างหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือเรื่องของการแบ่งเวลา เพราะงานที่ดีไม่จำเป็นต้องสละเวลาส่วนหนึ่งของชีวิตไปกับการทำงานหนัก แต่การรู้จักทุ่มเทในเวลาที่ควรทำต่างหากคือเรื่องสำคัญ เหมือนอย่างที่พวกเขาแสดงให้เราเห็นแล้วว่า “งานที่มีคุณภาพอยู่ที่การใช้เวลาอย่างมีคุณค่าต่างหากคือเรื่องสำคัญ”