THE COUNTRY HOUSE
Written by: Ideas Magazine
16 August 2019
Views: 361
เปิดประตูบ้านต้อนรับทีมงานอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง สำหรับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นหนุ่มฝรั่งเศสเต็มตัวอย่าง คุณปิแอร์ เวอร์เมียร์ ผู้ซึ่งตกหลุมรักประเทศไทยรวมทั้งสาวไทยอย่าง คุณนิตญา ผ่านสำแดง มาแล้วถึง 6 ปีเต็ม ซึ่งเรียกได้ว่ามากพอที่จะคุ้นเคยกับวิถีแบบไทยที่มีกลิ่นอายชัดเจนในแบบพื้นถิ่น นั่นจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คุณปิแอร์ตัดสินใจสร้างบ้านหลังใหม่ซึ่งอยู่ในบริเวณเดิมของบ้านคุณนิตญาที่จังหวัดอุดรธานีไว้สำหรับพักผ่อนหลังจากเสร็จธุระเรื่องงานจากกรุงเทพฯและด้วยบุคลิกแบบคนสบาย ๆ ไม่ถือตัวของคุณปิแอร์ บวกกับมีรอยยิ้มประดับบนใบหน้าอยู่เสมอ ทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบ้าน “บ้านกึ่งพื้นถิ่นไทยกึ่งร่วมสมัย” ในอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานีหลังนี้ถึง “แตกต่างอย่างกลมกลืน”
(ซ้าย) ผสมผสานบ้านพื้นถิ่นกับบ้านสมัยใหม่เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นบ้านไทยอีสานแสนอบอุ่น เต็มไปด้วยเสน่ห์ของงานไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น
(ขวา) โถงบันไดบ้านชั้น 2 เน้นความโปร่งโล่งอากาศถ่ายเทได้ดี
“มันคนละความรู้สึกกันเลยนะ ระหว่างการมีบ้านในกรุงเทพฯ แล้วแวะมาเที่ยวอุดรฯ กับการมีบ้านที่อุดรฯ แล้วกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งอย่างหลังให้ความรู้สึกถึงการมีบ้านชนบทให้กลับไปเป็นชีวิตอีกด้านที่สงบกว่าความวุ่นวายในเมือง” คุณปิแอร์กล่าว
ปัจจุบันคุณปิแอร์จะมาบ้านที่จังหวัดอุดรฯ 2-3 ครั้งต่อเดือน และวางแผนว่าจะย้ายมาพักอาศัยแบบถาวรในอนาคต เพราะอย่างที่บอกว่าเขาตกหลุมรักเสน่ห์ของที่นี่เข้าอย่างจัง ไม่ว่าจะเป็นการขับมอเตอร์ไซค์ไปตลาดใกล้ ๆ แล้วกลับมาทำอาหาร ชักชวนเพื่อนบ้านให้มาช่วยชิม และนั่งพูดคุยถามไถ่เรื่องราวต่าง ๆ อย่างเป็นกันเอง รวมไปถึงเปิดบ้านต้อนรับเพื่อนจากต่างประเทศด้วย
(ซ้าย) ชานระเบียงทางเดินรอบบ้าน สามารถออกมานั่งเล่นรับอากาศดี ๆ ได้
(ขวา) ม้านั่งไม้บนระเบียงชั้น 2 อีกหนึ่งมุมโปรดของคุณปิแอร์
“ผมตั้งใจจะมีชีวิตในชนบทที่เรียบง่าย เพราะคำว่าชีวิตไม่ได้หมายถึงแค่ชีวิตของเราคนเดียว แต่ยังรวมไปถึงการที่ตัวเราเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคมและชุมชนด้วย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่อบอุ่นของบ้านไทยอีสาน บ้านหลังนี้จึงช่วยให้ผมสัมผัสได้ถึงความเป็นส่วนหนึ่งของชนบทได้อย่างแท้จริง”
ก่อนจะมาเป็นบ้านที่คุณปิแอร์ภูมิใจและมีความสุขขนาดนี้ เขาได้เล่าขั้นตอนต่าง ๆ ให้เราฟังเพิ่มเติมว่า
“ผมอยากได้บ้านไทยอีสานที่ไม่ใช่แค่การเลียนแบบอาคารพื้นถิ่น แต่ต้องเป็นบ้านที่กลมกลืนสามารถเชื่อมโยงผู้อยู่อาศัยให้เข้ากับชุมชนรอบ ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญคือเหมาะกับช่วงอายุของเรา ซึ่งอยู่ในวัยที่ต้องหันมาให้ความสนใจกับคุณภาพการใช้ชีวิตมากกว่าการโหมงานหนัก”
ชั้น 1 ของบ้านให้บรรยากาศคล้ายใต้ถุนบ้านไทย
กรุบานเคาน์เตอร์ด้วยไม้ให้กลมกลืนกับส่วนอื่น ๆ ของบ้าน
จากความต้องการที่อยากให้บ้านเป็น “บ้านนอกที่อบอุ่น” การออกแบบจึงเป็นเรื่องสำคัญ สองสามีภรรยาเจ้าของบ้านจึงวางใจให้ คุณเล็ก - กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล สถาปนิกผู้มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจการเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่น จาก Space Time มาช่วยออกแบบ เพื่อให้บ้านนอกหลังนี้ออกมาอบอุ่นตรงใจที่สุด
“อยากได้บ้านไทย ๆ หลังไม่ต้องใหญ่มากและชอบไม้” จากโจทย์นี้คุณเล็กจึงนำมาตีความแล้วออกแบบให้บ้านมีลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้น ชั้นล่างเป็นโถงใต้ถุนโล่งกว้าง มีห้องครัวอยู่ด้านหน้า และมีบันไดที่ไม่มีลูกตั้งมาคอยบังสายตาอยู่กลางบ้านเพื่อขึ้นไปสู่พื้นที่พักอาศัยชั้น 2 แน่นอนว่าทุกส่วนในบ้านใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก แล้วจึงเพิ่มกระจกบานเกล็ด และแผ่นซีเมนต์บอร์ด ช่วยเสริมองค์ประกอบให้บรรยากาศโดยรวมดูลงตัวเรียบง่ายมากขึ้น
(ซ้าย) เลือกใช้หน้าต่างบานเกล็ดเป็นหลักแทนการติดเหล็กดัด
(ขวา) เตียงนอนขนาดเล็กก็ทำมาจากไม้เช่นกัน
เมื่อบ้านสร้างเสร็จเรียบร้อยคงไม่ต้องเดาว่าคุณปิแอร์และคุณนิตญาพอใจกับบ้านหลังนี้มากแค่ไหน เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่เติมเต็มชีวิตที่แสนสงบแล้ว ในแง่ของสถาปัตยกรรมยังช่วยสร้างความน่าภูมิใจ เพราะสามารถดึงเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นออกมาใช้ได้อย่างโดดเด่น โดยยังคงดูถ่อมตนและกลมกลืนกับชุมชนรอบ ๆ