HOME IS WHERE THE HEART IS
Written by: Ideas Magazine
20 August 2019
Views: 223
ครอบครัวใหญ่เป็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของไทยที่มีมาช้านาน เช่นเดียวกันกับสายใยของ “ครอบครัวแสนสุข” ที่ถูกผูกโยงไว้อย่างแน่นแฟ้นผ่านงานดีไซน์เพื่อการใช้ชีวิตภายในบ้านหลังใหม่บนที่ดินผืนดั้งเดิม งานออกแบบภายในโดยคุณภราดร กู้เกียรตินันท์แห่ง P.O.P. Studio เกิดขึ้นพร้อมกับแนวความคิดหลักในเรื่อง “การเชื่อมโยง” ทั้งในเชิงกายภาพและความรู้สึก
“ผมอยากสร้างสเปซให้ทุกคนในครอบครัวใหญ่ได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน พื้นที่ทั้งหมดจึงเปิดให้เชื่อมต่อกันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ยังคงเกิดปฏิสัมพันธ์กันได้แม้จะอยู่กันคนละพื้นที่”
เน้นการเชื่อมโยงพื้นที่ภายในบ้านทุกส่วนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นตอนเป็นพื้นที่ปิดหรือเปิด ด้วยการใช้กระจกเป็นวัสดุสำคัญร่วมกับการใช้วัสดุปูพื้นแบบพื้นผิวธรรมชาติในการเชื่อมโยงพื้นที่เข้าด้วยกันทั้งชั้น โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าห้องใดต้องใช้วัสดุพื้นแบบใด จึงสร้างความรู้สึกว่าทุกห้องเชื่อมต่อและเป็นเรื่องราวเดียวกันทั้งหมด ตัวอย่างห้องนั่งเล่นที่ใช้กระเบื้อง COTTO Italia จากบุญถาวร
ด้วยขนาดของที่ดินที่จำกัด คุณณัฏฐินี สุรพงษ์ประชา สถาปนิก จึงออกแบบบ้านให้เกิดการเชื่อมโยงในทางแนวตั้ง ความท้าทายจึงเกิดขึ้นกับงานออกแบบภายในว่า เราจะทำให้ความสัมพันธ์ในแนวดิ่งเกิดขึ้นและใช้งานจริงอย่างเหมาะสมได้อย่างไร
เพราะการอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับบ้านหลังนี้ แต่ละชั้นจึงจัดสรรส่วนนั่งเล่นเอาไว้เป็นพื้นที่รวมตัวสำหรับทำกิจกรรมครอบครัว และแจกจ่ายสู่พื้นที่ส่วนตัวของแต่ละวัย อย่างวัยปู่ย่าก็จะอยู่บนชั้น 2 ที่สามารถเปิดบานสไลด์หน้าบ้านออกมาชมสวนและบรรยากาศโดยรอบได้ ส่วนครอบครัวเล็กรุ่นลูกหลานก็จัดไว้อยู่บนชั้น 3 ซึ่งเป็นชั้นบนสุด
(ซ้ายบน) พื้นที่นั่งเล่น หัวใจสำคัญเชื่อมโยงคนทั้ง 3 วัยเข้าด้วยกัน
(ซ้ายล่าง) กระเบื้องกรุห้องน้ำเลือกใช้ลวดลายหินธรรมชาติที่เข้ากับวัสดุธรรมชาติของงานตกแต่งบ้าน เพราะดูแลรักษาง่าย โดยยังคงรูปลักษณ์ได้ตามที่ตั้งใจ กระเบื้องห้องน้ำและสุขภัณฑ์ทั้งหมดมาจากบุญถาวร
(ขวา) เลือกเปิดผนังที่เชื่อมระหว่างห้องด้วยการใช้กระจกให้ได้มากที่สุด เพื่อให้แสงสว่างธรรมชาติในเวลากลางวันส่องผ่านทั่วทั้งตัวบ้าน
“ทุกองค์ประกอบภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุหรือเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน สมาชิกทุกคนในบ้านได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกสรร โดยมีผมเป็นคนช่วยไกด์ให้เข้ากับรูปแบบของบ้าน เพราะคน 3 วัย ความชอบก็ไม่เหมือนกัน อย่างวัยเด็กที่ตอนนี้กำลังเริ่มโต เขาก็เริ่มมีรสนิยมในการเลือกของที่ชอบอะไรคล้าย ๆ ผู้ใหญ่มากขึ้น หรืออย่างวัสดุที่ผู้ใหญ่จะชอบอะไรที่ดูมีดีเทลเราก็เลือกใช้ไม้มาทำดีเทลของหน้าบานและฝ้าเพดานโดยลดทอนจากฝาปะกนแบบบ้านไทย”
ไฮไลท์อีกอย่างของบ้านหลังนี้คือการเลือกใช้วัสดุ ซึ่งส่วนใหญ่เลือกใช้วัสดุแท้ ทั้งไม้จริง อิฐ หินอ่อน และเหล็ก แต่ก็มีบางส่วนที่เลือกใช้วัสดุที่ให้พื้นผิวและความรู้สึกใกล้เคียงธรรมชาติ อย่างกระเบื้องปูพื้นลายหินอ่อนธรรมชาติ เพราะสะดวกต่อการใช้งานและดูแลรักษามากกว่า
(ซ้าย) วัสดุคือส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความต่อเนื่องทั้งจากสายตาและทางความรู้สึก จึงเลือกใช้วัสดุที่มีพื้นผิวธรรมชาติที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นร่วมกับกระจกที่สะท้อนเรื่องราวภายในห้องได้อย่างดี
(ขวา) เทคนิคจัดการแสงภายในบ้านให้นุ่มนวลขึ้น ด้วยการจัดไฟดาวน์ไลท์ฝังเป็นแนวระนาบในหลุมฝ้าเพดานกรุวัสดุไม้
ความสุขของการใช้ชีวิตคือมาตรวัดความสำเร็จของงานดีไซน์บ้านที่ดีที่สุด พื้นที่ส่วนกลางที่ถูกใช้งานตลอดทั้งวัน พร้อมกับบทสนทนาและกิจกรรมพร้อมหน้าของทุกคนในครอบครัว เป็นบทพิสูจน์ว่าบ้านหลังนี้ที่เจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในการเลือกสรรไปพร้อมกับดีไซเนอร์ได้ทำหน้าที่พื้นที่แห่งความรักได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ