BOT LEARNING CENTER

Architecture

Written by: Ideas Magazine

12 August 2019

Views: 535


การเก็บเอกลักษณ์อาคารเดิมไว้ช่วยเสริมเสน่ห์ให้สถานที่แห่งนี้ยังคงมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งนับวันจะหาชมยากขึ้นทุกที

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย “Bank of Thailand Learning Center” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “BOT Learning Center” เปิดบริการให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมแล้วตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจการเงินแบบบูรณาการ มีพิพิธภัณฑ์และพื้นที่จัดนิทรรศการเพื่อให้ประชาชนหันมาสนใจด้านเศรษฐศาสตร์มากขึ้น


เส้นสายแนวนอนที่ติดไปกับผนังอาคารคือครีบอะลูมิเนียม ช่วยทำหน้าที่ปกป้องอาคารไม่ให้แสงแดดจากทิศตะวันตกเข้ามาสู่ตัวอาคารโดยตรง


พื้นที่ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องพิมพ์ธนบัตรเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้

แต่ก่อนจะเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้อย่างที่เห็น เดิมที่นี่เคยเป็นอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรเก่า มีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ที่มีความโดดเด่นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมหลังคาคอนกรีตทรงโค้งริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ประกอบกับในวาระฉลองครบรอบ 75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารจึงได้จัดโครงการประกวดแบบ


พื้นที่ด้านหน้าออกแบบเป็นลานบันไดขนาดใหญ่ทำหน้าที่ส่งผู้ใช้งานขึ้นไปสู่ชั้น 2 ของอาคาร ซึ่งมีลักษณะเป็นโถงอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ใช้สำหรับจัดนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ และยังเป็นจุดชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยที่สุดอีกมุมหนึ่งด้วย

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อรีโนเวตอาคารแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาในรูปแบบของพื้นที่สาธารณะ ส่งเสริมการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบของคนทุกวัยได้อย่างแท้จริง จนได้บริษัทผู้ชนะการประกวด คือ Creative Crews นำทีมโดย คุณปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ พร้อมทีมงานที่ปรึกษาอีก 3 บริษัท เข้ามาปรับปรุงอาคารและพื้นที่ใช้งานภายใน โดยยังคงเก็บรักษารายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ไว้เช่นเดิม


ใช้อะลูมิเนียมฉีกมาทำฟาซาดให้อาคาร โดยนำมาจัดเรียงเป็นแพตเทิร์นไล่เฉดสีจากโทนสีฟ้าไปถึงน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย / ห้องมัลติฟังก์ชันคือพื้นที่ที่ได้รับการต่อเติมขึ้นมาให้อยู่บนโครงสร้างใหม่ที่แข็งแรง ใช้สำหรับเป็นห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุมและสันทนาการต่างๆ

คุณปุยฝ้ายบอกเล่ารายละเอียดการทำงานให้ฟังว่า “ทางโครงการมีอาคารเก่าซึ่งเป็นอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกในประเทศไทย ตัวอาคารสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 โดยเป็นฝีมือการออกแบบและทีมช่างจากประเทศเยอรมนี ต่อมาเมื่อมีความต้องการผลิตธนบัตรสูงขึ้น โรงพิมพ์ธนบัตรจึงต้องขยับขยายไปอยู่ชานเมือง อาคารแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้เล็งเห็นความสำคัญของอาคารที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ด้านการเงินและธนาคารของประเทศไทย รวมทั้งต้องการอยากให้พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดที่อยู่ในอาคารอีกฝั่งเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงจัดการประกวดแบบเพื่อแปลงโฉมอาคารเก่าที่ยังมีความเท่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นมา”

แน่นอนว่าการออกแบบโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ย่อมต้องมีทั้งแนวคิดการออกแบบและแรงบันดาลใจที่ไม่ธรรมดา
“เมื่อนึกถึง BOT เราก็จะคิดถึงความมั่งคั่ง เพราะเป็นโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่พอมาพิจารณาดีๆ อีกครั้ง จึงตีความได้ว่าน่าจะหมายถึงความประหยัดมากกว่า นอกจากความประหยัดในด้านของการลงทุนและความคุ้มค่าแล้ว การประหยัดพลังงานก็เป็นอีกสิ่งที่เราสนใจ เพราะอยากให้อาคารแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นว่าการลงทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นมีประโยชน์กับประชาชนจริงๆ”


ห้องมัลติฟังก์ชันคือพื้นที่ที่ได้รับการต่อเติมขึ้นมาให้อยู่บนโครงสร้างใหม่ที่แข็งแรง ใช้สำหรับเป็นห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุมและสันทนาการต่างๆ 


พื้นที่ชั้นนอกของห้องมัลติฟังก์ชันกรุผนังด้วยอะลูมิเนียมฟิน ช่วยให้ลมธรรมชาติพัดผ่านเข้ามาได้เต็มที่จนแทบไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ

ความพิเศษที่ผู้ออกแบบเพิ่มเติมลงไปจนออกมาเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบและตอบโจทย์ประชาชนที่เข้ามาใช้งานพื้นที่ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย คือ การออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อจัดนิทรรศการต่างๆ ซึ่งมีลักษณะพื้นที่เป็นแบบ Semi-outdoor เน้นให้ความรู้สึกปลอดโปร่ง ลมและแสงสามารถเข้ามาในพื้นที่ได้ในปริมาณเหมาะสม ช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างดี แถมยังสามารถชมวิวสะพานพระรามแปดและถ่ายรูปแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างชัดเจน


บริเวณห้องสมุดที่ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้บริการได้ถูกวางตำแหน่งให้อยู่บริเวณหน้าอาคาร ระหว่างอ่านหนังสือจึงสามารถพักสายตาชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างชัดเจน

“ไฮไลท์ของโครงการ BOT คือวิวแม่น้ำดังนั้นการออกแบบพื้นที่ให้สามารถเปิดรับวิวได้อย่างเต็มที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ หรือแม้แต่มุมมองที่มองเข้ามาก็จะต้องสร้างความรู้สึกว่าตัวอาคารมีความโดดเด่น ทั้งให้แง่ของการเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศไทย และในฐานะอาคารที่ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม โดยเรายังคงเก็บรักษาโครงสร้างเดิมของหลังคาที่มีเอกลักษณ์เอาไว้ แล้วรื้อฟาซาด (Façade) เดิม ซึ่งเป็นผนังทึบด้านหน้าออกทั้งหมด แล้วต่อเติมโครงสร้างเบาด้านบนสำหรับรองรับห้องมัลติฟังก์ชัน สำหรับใช้เป็นห้องประชุมและจัดกิจกรรมต่างๆ การออกแบบครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะเป็นอาคารเก่าแต่ก็มีศักยภาพในการใช้งานได้อย่างดี ทั้งในเรื่องของฟังก์ชันและโครงสร้าง”

ด้วยความที่ BOT เป็นโครงการขนาดใหญ่ ฉะนั้นนอกจากเรื่องการออกแบบเพื่อการใช้งานสำหรับคนจำนวนมากแล้ว เรื่องการประหยัดพลังงานก็ถือเป็นเรื่องสำคัญในระยะยาว
“การประหยัดพลังงานเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบวางผัง โดยเฉพาะโครงการนี้ถือว่าค่อนข้างยากมาก เพราะด้านที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาคือทิศตะวันตก ต้องเผชิญกับแสงแดดและความร้อนตลอดวัน จึงเป็นโจทย์ว่าเราจะทำอย่างไรให้พื้นที่บริเวณนี้ไม่ร้อน แถมยังสามารถชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาได้แบบเต็มตาเพื่อแก้ปัญหานี้เราจึงได้ทำงานร่วมกับบริษัท Africvs เพื่อออกแบบครีบอะลูมิเนียมสำหรับนำมาติดตั้งแถบอาคารด้านนอกทั้งหมด เมื่อมองจากด้านนอกแทบจะไม่เห็นครีบนี้เลย เนื่องจากเราออกแบบให้ขนาดของฟินและองศาในการติดตั้งทำหน้าที่ป้องกันแสงแดดที่จะเข้ามาสู่ตัวอาคาร ขณะเดียวกันคนที่ใช้อาคารด้านในก็ยังสามารถมองเห็นวิวด้านนอกได้ ให้ทั้งความรู้สึกปลอดโปร่ง แสงสว่างและลมธรรมชาติพัดผ่านได้สะดวก ช่วยลดการใช้งานเครื่องปรับอากาศและไฟฟ้า”


ผู้ออกแบบเพิ่มฟังก์ชันให้มีชั้นลอยที่บริเวณห้องสมุดสำหรับให้สมาชิกใช้เป็นห้องประชุมแบบส่วนตัว / ส่วนจัดนิทรรศการ ผู้ออกแบบได้เพิ่มพื้นที่ในแนวตั้งด้วยการรื้อฝ้าเพดานออก แล้วโชว์โครงสร้างและงานระบบเท่ๆ

นอกจากการแก้ปัญหาเรื่องความร้อนเข้าสู่อาคารแล้ว ผู้ออกแบบยังมีแนวคิดการนำประโยชน์จากลมแม่น้ำมาใช้ในโครงการ คุณฝ้ายอธิบายเพิ่มเติมว่า “อีกพื้นที่ที่เราให้ความใส่ใจเรื่องการประหยัดพลังงานคือพื้นที่สาธารณะของโครงการ เช่น บริเวณของลานด้านหน้าและพื้นที่โถงโล่งบนชั้น 2 ที่ไม่จำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศใดๆ อาศัยเพียงลมเย็นสบายจากแม่น้ำที่พัดผ่านเข้ามาเท่านั้น ถ้าเราออกแบบช่องเปิดให้เหมาะสมและใช้อะลูมิเนียมฉีกที่มีคุณสมบัติให้ลมพัดผ่านได้ตลอดเวลาก็จะช่วยให้อุณหภูมิ บริเวณนั้นลดลง ทำให้พื้นที่นี้เป็น Comfort Zone คนใช้พื้นที่อยู่ได้สบายและประหยัดพลังงานไฟฟ้าไปในตัว เราเชื่อว่า การออกแบบผังโดยรวมและการแพลนตั้งแต่แรกสามารถช่วยในการประหยัดพลังงานมากกว่าการซื้อเครื่องมือที่ทันสมัยราคาแพง”

นอกจากนี้เปลือกอาคารกรุด้วยอะลูมิเนียมฉีกซึ่งเป็นวัสดุที่มีราคาไม่สูง แต่เมื่อมีการออกแบบหรือจัดวางแพตเทิร์นที่น่าสนใจ ก็ทำให้เห็นได้ว่า วัสดุธรรมดาก็สามารถช่วยให้อาคารเกิดเอกลักษณ์ได้ อีกทั้งยังทำความสะอาดง่าย และช่วยให้ลมพัดผ่านเข้า-ออก ได้สะดวก

หลังจากเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่ไม่นานก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ในฐานะนักออกแบบ คุณปุยฝ้ายได้เล่าถึงความรู้สึกหลังจากโครงการนี้แล้วเสร็จตามจุดประสงค์ว่า “ดีใจมากที่โครงการนี้เสร็จได้ด้วยดี จริงๆ ดีใจตั้งแต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจัดประกวดแบบแล้ว เพราะรู้สึกว่ามันเป็นความหวังของคนยุคใหม่ ในแง่ที่เราไม่ใช่บริษัทใหญ่ แต่ได้รับโอกาสนำเสนอไอเดียไปจนถึงการได้รับเลือกให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ถึงแม้ช่วงเวลาที่ก่อสร้างจะมีปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่พออาคารแล้วเสร็จก็ทำให้รู้สึกว่าโครงการนี้น่าจะเป็นความหวังของประเทศชาติ เป็นตัวอย่างที่สำคัญของหน่วยงานทุกหน่วยในการสร้างพื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะและเพื่อสื่อสารกับประชาชน”

DETAIL
เจ้าของอาคาร : ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand)
ออกแบบและปรับปรุงงานสถาปัตยกรรม : Creative Crews
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : Shma Co.,Ltd.
ทีมงานเบื้องหลังการออกแบบและปรับปรุงอาคารส่วนอื่นๆ : Somdoon Architects Ltd. (Project Director - Competition Stage : Punpong Wiwatkul) / Africvs Co.,Ltd. / Architectkidd Co.,Ltd. / Assistant Professor Dr. Pirasri Povatong / Be Lit Co.,Ltd. / Beca Warnes Thailand Co.,Ltd. / Design Lab / GEO Design & Engineering Consultant Co.,Ltd.
ผู้กำกับดูแลโครงการ : สำนักบริหารอาคาร ฝ่ายธุรการและบริหารอาคาร ธปท.
ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง : บริษัท โปรเจคแพลนนิ่งแอนด์รีเสิร์ช จำกัด
ผู้รับจ้างก่อสร้าง : บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
ผู้ออกแบบและจัดทำงานพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย : บริษัท แปลนโมทิฟ จำกัด